ขายเป็นเศษเหล็ก! อนาคตสุดท้าทายของ 'หมูป่าเขี้ยวตัน' เอ-1









กำลังถกเถียงกันอย่างหนักถึงอนาคตของ เอ-10 ธันเดอร์โบลด์ ทู บ.โจมตีหน้าตาประหลาด ระหว่างเพนตากอนที่ต้องการปลดลดงบ กับเหล่าทหารที่เคยเห็นคุณค่าจากการรบของมันว่าจะมีอะไรมาทำหน้าที่ดีได้กว่า เพราะเอฟ-35 ก็ยังไม่พร้อมรบเลย...

หากพูดถึงเครื่องบินโจมตี และสนับสนุนการโจมตีทางอากาศแบบใกล้ชิด ชื่อที่บรรดาทหารราบ นาวิกโยธิน หรือ ทหารม้าของสหรัฐฯนึกถึงต้องมี เอ-10 ธันเดอร์โบลด์ ทู (Fairchild Republic A-10 Thunderbolt II) หรือ ชื่อเล่นว่า วอร์ตฮอร์ก หรือ หมูป่าเขี้ยวตัน เครื่องบินไอพ่นหน้าตาประหลาด 2 เครื่องยนต์ ที่สร้างผลงานในการรบในสมรภูมิต่างๆ มานับไม่ถ้วนนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย โคโซโว บอสเนีย อัฟกานิสถาน รวมทั้งอิรักและซีเรีย ในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือ ไอซิส ที่เฉพาะงานล่าสุดนับแต่ พ.ย.ปี 2014 มันทำหน้าที่ไปแล้ว 562 ภารกิจตามข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
การมีส่วนร่วมของเครื่องบินโจมตีรุ่นลุงต่อปฏิบัติการสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรง สวนทางกับแนวทางกลยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว ที่มองว่าเอ-10 เก่าคร่ำคร่าล้าสมัย ไม่เหมาะที่จะส่งเข้าไปในซีเรีย เพราะขาดความสามารถในการเอาตัวรอด หรือ ความเร็ว ที่จะปฏิบัติการในซีเรียได้ รวมทั้งเอาตัวรอดจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ และเครื่องบินรบรุ่นใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีความท้าทายต่ออนาคตของมัน เมื่อกระทรวงกลาโหมต้องการจะปลดประจำการ เครื่องบิน เอ-10 ทั้งหมดเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีอยู่จำกัดในตอนนี้

พลอากาศตรี ฮอว์ก คาร์ลไลนส์ ผู้บัญชาการรบทางอากาศ กองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวกับสื่อว่า เอ-10 ได้มีส่วนร่วมในไม่กี่โหลของการโจมตีทางอากาศในซีเรีย โดยที่มีการใช้งานอย่างจำกัด เพราะมันมีความเสี่ยงมากกว่าเครื่องบินแบบอื่นๆ เช่น เอฟ-16

นาวาอากาศเอกเอ็ด โชลทิส โฆษกศูนย์ควบคุมกลางการปฏิบัติการกองทัพอากาศสหรัฐ กล่าวว่า เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของกองทัพอากาศ มีการใช้งานเอ-10 เพียง 13% ของปฏิบัติการทางอากาศที่ดำเนินการโดยเครื่องบินขับไล่และทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร นับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา และวันที่ 6 ก.พ. ที่เอ-10 ได้เข้าร่วมการสู้รบ

โฆษกศูนย์ควบคุมกลางการปฏิบัติการกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า จำนวนของภารกิจ หรือการปฏิบัติงาน ไม่ได้เหมือนกับตัวเลขการโจมตีทางอากาศ ใน 562 ภารกิจ การบินโจมตีโดยเอ-10 ในซีเรีย และอิรัก ระหว่าง 26 พ.ย.-6 ก.พ.มีอยู่ 139 ภารกิจการโจมตีทางอากาศ ที่หมายถึงมีการปล่อยอาวุธ 1 ลูก หรือ เป็นการกราดยิงด้วยปืนกล

พันจ่าอากาศโทชาร์ลี คีบาฮ์ ทหารอากาศเกษียณอายุ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และประธานสมาคมผู้ควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (TACA) ที่เคยทำหน้าที่ควบคุมการทำงานภาคพื้นดินกับเอ-10 ในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2002-2003 กล่าวว่า การผลัดดันที่ต้องการลดเครดิตของเอ-10 อย่างต่อเนื่องมีอยู่แค่ไม่กี่เหตุผล นั่นคือ เรื่องงบประมาณ และเรื่องการเมือง ซึ่งในจุดนี้แน่นอนว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อศัตรูของเราเลย

"ต้องการลดงบประมาณค่าใช้จ่าย ด้วยการพยายามจะปลดประจำการ เอ-10 หรือ เจ้าหมูป่าเขี้ยวตัน ด้วยเหตุผลที่ง่ายๆ คือ มันเก่าเกินไป และใช้งานในภารกิจที่หลากหลายไม่ได้ในงบประมาณที่จำกัด มันช้า และหน้าตาหน้าเกลียดเมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ที่มีใช้งานไม่ว่าจะเป็น เอฟ-22 หรือ เอฟ-35 ที่มีกำหนดจะเข้ามาแทนทีเอ-10 แต่มันก็มีจุดหนึ่งที่เหนือกว่าเครื่องบินทุกแบบของ ทอ.สหรัฐฯ คือ มันมีอาวุธหนัก และเกราะที่แข็งแรง ทำให้กลายเป็นอาวุธที่ร้ายกาจเมื่อทำหน้าที่สนับสนุนแบบใกล้ชิดทางอากาศ"

คีบาฮ์ กล่าวด้วยว่า เกี่ยวกับเรื่องปลดประจำการเอ-10 ผมและทางสมาคม TACA จะกลับไปยังเพนตากอนพร้อมกับผู้ที่เคยได้รับเหรียญกล้าหาญจาก เครื่องบิน เอ-10 และ ผู้ที่ทำหน้าที่หน่วยรบพิเศษในสัปดาห์หน้า เพื่อไปหารือกับเลขานุการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศ
เครื่องบินโจมตี เอ-10 ออกแบบมาในยุคทศวรรษที่ 1970 ช่วงที่สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับโซเวียตในสงครามเย็น มีความกังวลว่าประเทศในยุโรปอาจถูกคุกคามด้วยกำลังรบยานเกราะรัสเซีย อย่างรถถังตระกูล T-54 T-55 และ T-62 ที่ประเทศในกลุ่มวอร์ซอร์แพค และยุโรปตะวันออกมีอยู่จำนวนมาก จึงพัฒนา เอ-10 มาให้มีขีดความสามารถในการปราบรถถังและยานเกราะ ด้วยปืนกลขนาด 30 มม.ลำกล้องหมุนแบบ GAU-8 ที่มีอำนาจการยิงสูง ขณะเดียวกันบทเรียนจากสงครามเวียดนามที่เครื่องบินโจมตีของสหรัฐฯ ส่วนมากมีความเร็ว ไม่เหมาะกับการใช้สนับสนุนการรบอย่างใกล้ชิดทางอากาศ และแบบที่บินได้ช้าก็พกอาวุธได้น้อย และมีอานุภาพไม่รุนแรง ขณะเดียวกัน เครื่องบินที่บินช้าก็มีเกราะน้อย ไม่ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กยาว หรือขีปนาวุธพื้น-สู่-อากาศ เอ-10 จึงกำเนิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่าง และเติมเต็มความต้องการส่วนนี้
เอ-10 เกือบหมดอนาคตในกองทัพสหรัฐฯ เมื่อสงครามเย็นได้จบสิ้นภัยคุกคามจากยานเกราะโซเวียดหายไป แต่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียเกิดขึ้นในปี 1991 เมื่อกองทัพอิรักภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮึสเซ็น บุกเข้ายึดคูเวต และสหรัฐอเมริกาก็กระโจนเข้าสู่สงครามอ่าวฯ โดยนำ เอ-10 เอ ไปใช้ในภารกิจโจมตีทำลายรถถัง และสนับสนุนการรบทางอากาศจนได้รับชื่อเสียง และกองทัพกลับมาเห็นคุณค่าของมันอีกครั้ง ด้วยตัวเลขการรบ และยอดการทำลายที่สวยหรูจากการปล่อยขีปนาวุธ อากาศ-สู่-พื้น แบบ AGM-65 มาเวอริคกว่า 90% ที่ใช้ในสงครามอ่าวฯ

ทั้งนี้การที่เครื่องบินรุ่นใหม่อย่าง เอฟ-35 เอ ไม่พร้อมกับการรบ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขัดขวางการปลดประจำการก่อนเวลาอันควรของ เอ-10 โดยเจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 15 ปี ในการพัฒนาเครื่องบินโจมตีรุ่นใหม่เพื่อทดแทน เอ-10 ได้จริง ระหว่างนี้ เอ-10 ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกสอยร่วงตั้งแต่อยู่บนโต๊ะ เพื่อเอาไปจอดรอแยกขายเป็นเศษเหล็กอยู่นั่นเอง.

ที่มา: thairath.co.th

0 comments:

Post a Comment